พัฒนาการการสหกรณ์ในประเทศไทย
โดย ศิริลักษณ์ นามวงศ์, ประเสริฐ จรรยาสุภาพ
บทคัดย่อ
บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอพัฒนาการการสหกรณ์ในประเทศไทย ช่วงเวลาปี พ.ศ. 2457-2558 ด้วยบริบทของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิในลักษณะของการวิจัยเอกสาร และนำมาอธิบายสภาพความเป็นจริงของการสหกรณ์ในประเทศไทย ในช่วงเวลา 4 ยุค คือ (1) ยุคที่หนึ่งช่วงเวลาปี พ.ศ. 2457-2470 เป็นยุคจัดตั้งสหกรณ์ (2) ยุคที่สองช่วงเวลาปี พ.ศ. 2471-2510 เป็นยุคที่สหกรณ์ขยายตัวและมีสถานะเป็นสถาบันการเงินหลัก (3) ยุคที่สามช่วงเวลาปี พ.ศ. 2511-2541 เป็นยุคการปรับตัวและขยายบทบาททางเศรษฐกิจของสหกรณ์ และ (4) ยุคที่สี่ช่วงเวลาปี พ.ศ. 2542-2558 เป็นยุคที่มีพระราชบัญญัติสหกรณ์ที่มุ่งสร้างความเชื่อถือทางธุรกิจของสหกรณ์ ผลจากการสังเคราะห์และวิเคราะห์เอกสาร พบว่า การสหกรณ์ในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในส่วนภูมิภาค นโยบายด้านสหกรณ์ สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตลอดจนการแนะนำส่งเสริมของภาครัฐต่างมีส่วนทำให้การสหกรณ์ในประเทศประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่การสหกรณ์จะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง คือ การที่ประชาชนในประเทศตระหนักถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ตนเองประสบอยู่ และแก้ไขปัญหานั้นด้วยการจัดตั้งและดำเนินงานสหกรณ์ตามอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและมีความเข้าใจในระบบสหกรณ์อย่างถูกต้อง
วารสารอิเล็กทรอนิกส์การเรียนรู้ทางไกลเชิงนวัตกรรม ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (2018): มกราคม – มิถุนายน 2561 หน้า 29-55